วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

กะหล่ำปลีกับสุขภาพ

  ใคร ๆ ก็รู้จักกะหล่ำปลี แต่น้อยคนที่รู้ว่ากะหล่ำปลีมีตัวยามหัศจรรย์ สามารถป้องกันคุณจากโรคร้ายอย่างคาดไม่ถึง
กะหล่ำปลี พื้นเพเดิมอยู่ที่เมดิเตอเรเนีย ต่อมาแพร่กระจายไปทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยแต่เดิมปลูกได้ดีเฉพาะภาคเหนือและอีสาน เพราะการจะห่อตัวเป็นปลีได้จำเป็นต้องได้รับอากาศหนาว
ต่อมามีการปรับปรุงพันธุ์ทนร้อนทำให้สามารถปลูกได้ทั่วประเทศ และทุกฤดูกาล
กะหล่ำปลีที่พบเห็นในตลาดบ้านเรามีสามชนิดคือ
1. กะหล่ำปลีธรรมดา
2. กะหล่ำปลีแดง (Red Cabbage) ใบเป็นสีแดงทับทิม ขึ้นดีในที่อากาศหนาวเย็น
3. กะปล่ำปลีใบย่น (Savoy Cabbage) ผิวใบหยิกย่น ต้องการอากาศหนาวเย็นพิเศษเช่นกัน
ทั้งสามพันธุ์มีประโยชน์ทางโภชนาการ แต่เฉพาะพันธุ์ธรรมดาเท่านั้นที่ช่วยป้องกันมะเร็งได้
ประโยชน์ของกะหล่ำปลี
ในเชิงโภชนาการกะหล่ำปลีครึ่งถ้วยมีวิตามินซีประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ ของที่ร่างกายต้องการต่อวัน
นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสสำหรับสร้างกระดูก
ในสมัยโบราณ เคยมีบันทึกเกี่ยวกับการใช้กะหล่ำปลีเป็นยา เช่น Cato the Censor( 234 - 149 ปีก่อนคริสตกาล) บันทึกไว้ว่า
"กะหล่ำปลีช่วยสลายหนองจากแผลและมะเร็ง" และกะหล่ำปลีถูกใช้เป็นยาครอบจักรวาลในประวัติศาสตร์โรมัน
แต่ที่กำลังสนใจมากตอนนี้คือฤทธิ์ต้านมะเร็งครับ
การค้นพบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ครั้งแรกเกี่ยวกับกะหล่ำปลี เกิดเมื่อปี 1931 เมื่อนักวิจัยชาวเยอรมันทดลองฉายรังสีแก่หนูให้ถึงแก่ความตาย
เขาพบโดยบังเอิญว่า หากหนูทดลองได้รับกะหล่ำปลีเป็นอาหารจะทนต่อรังสีมากกว่าหนูธรรมดา
ในปี 1950 นักวิจัยชาวฝรั่งเศสและในปี 1959 กองทัพสหรัฐ พบปรากฎการณ์เดียวกัน
ต่อมา ดร.แซกซอน เกรแฮม นักระบาดวิทยา ประธานคณะกรรมการเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กค้นพบว่า
มะเร็งสามารถถูกยับยั้งได้โดยการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง โอกาสเกิดมะเร็งแปรผันเป็นสัดส่วนกับการกินผัก
ลักษณะเช่นนี้ทางเภสัชวิทยาเรียกว่า "Dose Respond" หมายความว่า ถ้าคุณกินผักมากก็ได้รับผลการรักษามากกว่ากินผักขนาดต่ำ
นายแพทย์ลี วัตเทนเบิร์ก ศาสตราจารย์ทางด้านสรีระ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมินเนโซตา ได้ทดลองให้หนูกินพืชตระกูลกะหล่ำหลายชนิด แล้วจึงฉีดสารก่อมะเร็งเข้าในตัวหนู พบว่า หนูส่วนใหญ่ไม่เป็นมะเร็ง
ดร.โทมัส เคนส์เลอร์ มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปส์กิน สกัดสารอีกกลุ่มหนึ่งคือ Dithiolthiones จากกะหล่ำปลี พบว่ามันเป็นสารต้านมะเร็งที่ทรงพลานุภาพ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในประเทศนอร์เวย์และอื่น ๆ ที่ให้ผลตรงกันในการป้องกันและลดความรุนแรงของมะเร็งในลำไส้ได้อย่างดี
จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่าน้ำคั้นจากกะหล่ำ สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในลำไส้
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นอย่างน้อยสองรายจดทะเบียนลิขสิทธิ์วิธีสกัดสาร 'Desmutagen' จากกะหล่ำปลีเพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะ
ดร.การ์เนตต์ เชนีย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทดลองให้น้ำคั้นกะหล่ำปลีแก่ผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะและลำไส้จำนวน 55 ราย
พบว่าผู้ป่วยฟื้นตัวและหายจากอาการแผลในทางเดินอาหารเร็วกว่าคนไข้ทั่วไปถึง 83 เปอร์เซ็นต์
ในปี 1973 นักวิทยาศาสตร์ ค้นพบสาร Gefarnate ในกะหล่ำปลี ซึ่งมีฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะ ช่วยกระตุ้นเซลล์เยื่อบุกระเพาะและลำไส้ ให้สร้างน้ำคัดหลั่งคลุมผิวทางเดินอาหาร ปกป้องแผลจากกรดในกระเพาะแต่ต้องเป็นกระหล่ำปลีชนิดสีขาว สีม่วงใช้ไม่ได้และต้องใช้สด ๆ
เราลองมาทำน้ำกะหล่ำปลีให้คนในครอบครัวดื่มเปลี่ยนรสชาติกันบ้างครับ เป็นเครื่องดื่มแปลกตำรับต่างประเทศ ทำง่าย ได้ประโยชน์แก่สุขภาพ


ที่มา : นิตยสาร "รุ้ง" คอลัมน์ "ครัวสุขภาพ" โดย เภสัชกรสรจักร ศิริบริรักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น